วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กระทงสายจังหวัดตาก

แบ่งปัน
.
 
ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง ถือเป็น ประเพณีของชาวเมืองตากที่นำวิถีชีวิตของบรรพชนมาผสมผสานเข้ากับความเชื่อ และหลักศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้ปลูกฝังและถ่ายทอดมาสู่จิตสำนึกของลูกหลานไทยมาแต่บรรพกาล ก่อให้เกิดประเพณีที่ร้อยรักรวมใจของคนเมืองตากให้เป็นหนึ่งเดียว

               
ในอดีต ชาวเมืองตากจะมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง วิถีชีวิตของชาวตากจึงมีความผูกพันกับสายน้ำที่เปรียบเสมือนสายโลหิตที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองตากมานานหลายชั่วอายุคน จากความกตัญญูรู้คุณต่อสายน้ำ ก่อให้เกิดประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญู ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองชาวเมืองตากได้จัดให้มีการลอยกระทงขึ้น ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในหมู่บ้านในการดำเนินกิจกรรม อันเป็นความเชื่อในการจัดทำกระทงนำไปลอย เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นการลอยทุกข์โศกโรคภัยให้พ้นไปจากตนเอง และขอขมาที่ได้อาศัยแม่น้ำและทิ้งของเสีย ถ่ายเทสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำปิง โดยใช้โอกาสนี้ในการพบปะพูดคุย จัดกิจกรรมรื่นเริงภายในหมู่บ้านอีกด้วย 

               เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ชาวเมืองตากทุกครัวเรือนจะนำด้ายดิบ (ด้ายที่ปั่นมาจากฝ้าย) มาฟั้น ด้วยแต่ละเส้น จะประกอบด้วยด้ายเส้นเล็กๆ จำนวน 9 เส้น จากนั้นจะนำด้านที่ฟั้นเสร็จแล้วมาวัดตามความยาวของแขนที่กางออกทั้งสองข้างของสมาชิกภายในบ้านทุกคน เรียกว่า วัดวา แล้วเด็ดออก ด้ายแต่ละเส้นจึงมีความยาวไม่เท่ากันแล้วแต่ว่าผู้วัดจะมีความยาวของแขนเท่าไร จากนั้น นำด้ายที่วัดวาแล้วมาวัดที่ศรีษะของผู้เป็นเจ้าของด้ายเส้นนั้น เมื่อวัดรอบศรีษะได้เท่าใดก็ให้เด็ดออก จากนั้นนำด้ายที่วัดรอบศีรษะที่เด็ดออกมามัดต่อเข้ากับด้ายเส้นเดิม การกระทำเช่นนี้เป็นความเชื่อของผู้เท่าผู้แก่ ถือว่าเป็นการต่ออายุให้กับตนเอง ด้ายฟั่นที่เหลือจากการวัดวาก็จะนำมาทำฟั่นให้เป็นรูปตีนกา มีจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัว หรือมากกว่านั้นก็ได้ตามแต่ศรัทธา ต่อจากนั้นจึงนำด้ายทุกเส้นและตีนกา มาแช่ในน้ำมะพร้าว การทำตีนกาเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า แสงไฟจากตีนกาจะเป็นการบูชาแม่กาเผือกของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ตามตำนวนเล่าว่า มีเณรน้อยผู้ชอบเที่ยวซุกซนองค์หนึ่ง มีนิสัยชอบล่าสัตว์ ยิงนก ตกปลาอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งได้ยิงไก่, วัว, เต่า และพญานาคตาย แต่ก่อนสัตว์เหล่านั้นจะตายเณรน้อยได้เกิดสำนึกในบาปที่ตนได้ล่าสัตว์และทรมานสัตว์เหล่านั้น จึงได้อธิษฐานร่วมกับไก่, วัว, เต่า และพญานาคว่า ถ้าเกิดในชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน

               
ณ ริมฝั่งแม่น้ำ มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่งเป็นที่อยู่ของกาเผือกสองผัวเมีย ซึ่งได้ออกไข่มา 5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่กาเผือกสองผัวเมียออกไปหาอาหารได้เกิดท้องฟ้ามือครึ้ม มีลมพายุพัดอย่างแรง ทำให้ไข่กาเผือกทั้ง 5 ฟอง ลอยตกลงไปในแม่น้ำ แต่ไข่นั้นหาจมน้ำไม่ กลับลอยไปติดที่ชายหาดแห่งหนึ่งและไข่ทั้ง 5 ฟอง ก็แตกออกเป็นทารก 5 คน ทารกทั้ง 5 คนนั้น คือ เณรน้อย, ไก่, วัว, เต่า และพญานาค ที่กลับมาเกิดนั่นเอง ทารกทั้ง 5 คน ได้พากันอธิษฐานร่วมกันว่า ถ้าตนทั้ง 5 ได้เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกันก็ขอได้มีโอกาสพบพ่อแม่ด้วยเถิด ฝ่ายกาเผือกสองผัวเมียเมื่อตายลงก็ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ ได้เข้าฝันทารกทั้ง 5 ว่า "หากเจ้าทั้ง 5 คน อยากเห็นหน้าและระลึกถึงพ่อแม่ ก็จงฟั่นด้ายเป็นรูปตีนกา แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป" ทารกทั้ง 5 จึงทำตาม และต่อมาทั้ง 5 คน ได้บำเพ็ญตนจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ 
ลอยกระทง
การลอยกระทงสายของชาวเมืองตากทุกวันเพ็ญเดือนสิบสอง จึงมีการฟั้นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อขอบูชาแม่กาเผือกของพระเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาถึงทุกวันนี้ ในเวลาพลบค่ำ ชาวบ้านแต่ละครัวเรือก็จะนำด้ายวัดวา รวมทั้งตีนกาที่แช่น้ำมันมะพร้าว พร้อมด้วยกระทงที่จะนำไปลอยตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือนและดอกไม้ธูปเทียน ไปที่วัดภายในหมู่บ้าน เพื่อนำด้ายที่วัดวาไปพาดบนคานไม้ แล้วจุดไฟที่ด้ายของแต่ละคน ส่วนตีนกาที่เตรียมมาด้วยก็จะนำไปวางพบถ้วยดินเผา ซึ่งเรียกว่า "ถ้วยประทีป" นำน้ำมันมะพร้าวใส่ลงไป การใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงนั้น นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำสิ่งที่ได้จากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งน้ำมันมะพร้าวจะมีกลิ่นหอม มีควันน้อยเมื่อจุดไฟ การจุดไฟที่ด้ายและตีนกาถือเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า แสงไฟจะสร้างความสว่างไสวให้กับชีวิตของตนเอง นอกจากฟั้นด้ายและตีนกาแล้ว แต่ละครัวเรือนจะเตรียมทำกระทงเพื่อใช้ลอยขอขมาแม่พระคงคา ด้วยการนำกาบกล้วยหรือกาบพลับพลึงมาเย็บเป็นกระทง ใช้ธูปพันด้วยด้ายชุบน้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิง และมีการจัดแพ "ผ้าป่าน้ำ" ที่ทำด้วยต้นกล้วยตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และธงหลากสี ซึ่งตัดตกแต่งเป็นลวดลายอย่างงดงามจากกระดาษแก้ว ใส่หมากพลู บุหรี่ ขนม ผลไม้ และเศษสตางค์ เพื่อเป็นพุทธบูชา แม่พระคงคาในสายน้ำปิง เมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ชาวบ้านก็จะเริ่มร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนาน และไปร่วมลอยกระทงกันที่ริมฝั่งแม่น้ำ หลังจากนั้นจะมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้นำในการกล่าวคำขอขมา และนำแพผ้าป่าน้ำ ลงลอย ต่อจากนั้นชาวบ้านก็จะนำกระทงที่เตรียมมาลงลอย ต่างคนก็ต่างปล่อยกระทงของตนเอง จากกระทงหนึ่งใบเป็นสอง สาม สี่ จำนวนกระทงจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สร้างสรรค์ความงดงามในลำน้ำผสมผสานกับเสียงร้องรำทำเพลง เสียงดนตรีของกลุ่มชาวบ้าน สร้างความคึกครื้นและความบันเทิงที่ไม่เหมือนที่แห่งใดในประเทศไทย นับเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ก่อเกิดความรัก ความสามัคคี และความศรัทธา 
ลอยกระทง
   ปัจจุบัน การลอยกระทงสายจะใช้กระทงกะลามะพร้าว แทนกระทงที่ทำจากกาบกล้วยและกาบพลับพลึง เนื่องจากการดำเนินชีวิตของชาวเมืองตากที่มีการทำไส้เมี่ยงเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน และเมี่ยงเป็นอาหารว่างที่คนเมืองตากนิยมรับประทานกัน นอกจากนั้น ยังเป็นสินค้าพื้นเมืองที่เป็นที่นิยมในภาคเหนืออีกด้วย เนื่องจากไส้เมี่ยงมีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบสำคัญ เมื่อขูดเอาเนื้อมะพร้าวออกหมดแล้ว กะลามะพร้าวจึงเป็นวัสดุเหลือใช้ และสามารถนำมาเป็นวัสดุในการทำกระทง เพื่อนำมาลอยในคืนเพ็ญเดือนสิบสอง โดยมีการนำแพผ้าป่าน้ำมาลอยเป็นกระทงนำ และจะมีกระทงปิดท้าย เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดการลอยกระทงสายแต่ละสาย ในการลอยกระทงสายจะมีการร้องรำทำเพลงประกอบด้วย 
ลอยกระทง
สำหรับ "ประทีปพันดวง" หรือที่เรียกว่ากระทงสายก็คือ กระทงจำนวน 1,000 กระทงนั่นเอง เหตุที่ต้องใช้กระทงจำนวนมาก ก็เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสวยงาม

               
ประเพณีลอยกระทงสาย เดิมจัดเฉพาะในหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ เท่านั้น ต่อมาเทศบาลเมืองตากได้มีการฟื้นฟูประเพณีดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้ประเพณีลอยกระทงสาย เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตาก และได้เชิญชวนชาวบ้านจากชุมนุมต่างๆ จัดส่งกระทงสายเข้าประกวดตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2532 เป็นต้นมา ต่อมาในปี พุทธศักราช 2540 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศในการประกวดกระทงสาย และในปี พุทธศักราช 2541 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระประทีป สำหรับอัญเชิญลงลอยเป็นกระทงนำ ในวันเปิดงานลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่งาน และในปี พุทธศักราช 2544 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระประทีปร่วมลอยด้วย
ลอยกระทง

**** ขอขอบคุณข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดตาก 
http://www.takcity.org  ****
 
วันนี้หมูหิน.คอม เราพาเที่ยวงานลอยกระทง 3 งานซ้อนเลยครับ ประกอบด้วย งานลอยกระทงสุโขทัย ลอยกระทงสายตาก และลอยกระทงที่เชียงใหม่ครับ
งานประเพณีลอยกระทงสายจังหวัดตาก
             เรามาเริ่มกันด้วย
ลอยกระทงสายกันก่อนนะครับ งานประเพณีลอยกระทงของไทย งานประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่โบราณกาล โดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการบูชาขอขมาต่อแม่พระคงคา เป็นการสะเดาะเคราะห์ การบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ และการบูชารอยพระพุทธบาท การลอยกระทงจะนิยมทำกันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุก ๆ ปี เป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำลำคลองจะขึ้นสูงและมีอากาศเย็น ในตามพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวว่า นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทงสำหรับลอยประทีปเป็นรูปดอกบัวบานขึ้น เป็นแบบที่คนทั่วไปนิยมจัดทำสืบทอดต่อกันมา นอกจากนั้นในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังได้กล่าวถึง งานเผาเทียน เล่นไฟ ของกรุงสุโขทัยไว้ด้วยว่า เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้ผู้รู้ทั้งหลายสันนิษฐานตรงกันว่า งานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน
 
             งานประเพณีลอยกระทง เป็นงานประเพณีโบราณที่เก่าแก่ของไทย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่เท่าที่ปรากฏ พบว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีและในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์ใช้ในการกระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อการบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ในสมัยสุโขทัย นางนพมาศพระสนมของพระร่วงได้คิดทำกระทงถวายเป็นรูปดอกบัวและรูปต่าง ๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล
 
          พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยกระทงดอกบัวของนางนพมาศมาก จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และปฏิบัติสืบต่อกันมา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้ กระทงรูปดอกบัวจึงปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่เปลี่ยนชื่อเรียกว่า "ลอยกระทงประทีป" ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงตัดพิธีต่าง ๆ ที่เห็นว่าสิ้นเปลืองออก ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้อีก ปัจจุบันนี้ การลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย แต่พิธีของชาวบ้านยังคงทำกันอยู่เป็นประจำตลอดมา
  
ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหมูหิน.คอม


Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

เกี่ยวกับฉัน

Websiteที่รวบรวมการท่องเที่ยวดี ๆ ที่มีในประเทศไทยและต่างประเทศ