วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เที่ยวบุรีรัมย์ เมืองปราสาทหิน

แบ่งปัน


คำขวัญประจำจังหวัด  เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม

"เมืองปราสาทหิน"

บุรีรัมย์เคยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคมนาคมสู่เมืองพระนครอันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรขอม มีการสร้างปราสาทขอมในเมืองบุรีรัมย์มากกว่า 60 แห่ง


      
ไม่แปลกที่จะปรากฏปราสาทขอมจำนวนมากในบุรีรัมย์ เพราะในประวัติศาสตร์ เมืองบุรีรัมย์มีความเป็นบ้านเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเจนละซึ่งมีมาก่อนที่เมืองพระนครแห่งขอมโบราณจะรุ่งเรือง ดังปรากฏหลักฐานจารึกบนผนังถ้ำเป็ดทอง ต. ปะคำ อ. ปะคำ ที่เขียนขึ้นในสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน หรือเจ้าชายจิตรเสน กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งอาณาจักรเจนละ (ขึ้นครองราชย์ราว พ.ศ. 1143) ครั้งนั้นมีการสร้างศิวลึงค์ขึ้นเพื่อประกาศอำนาจของพระองค์ที่แผ่อิทธิพลเหนือเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำมูนหรือแคว้นมหิทรปุระ ที่เรียกอีกชื่อว่าเขมรสูง ซึ่งเมืองบุรีรัมย์ก็อยู่ในพื้นที่นี้ด้วย  อาณาจักรเจนละกับแคว้นมหิทรปุระมีการติดต่อถ่ายทอดศิลปวิทยาการกันเรื่อยมา จนถึงสมัยเมืองพระนคร (Angkor) เป็นศูนย์กลางของขอมโบราณ หรือที่เรียกว่าเขมรต่ำ (หรือประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) ก็มีเส้นทางเชื่อมโยงกับเมืองพระนคร โดยผ่านช่องเขาดงพญาเย็นบริเวณช่องไซตะกูและช่องโอบกใน อ. บ้านกรวด เขต จ. บุรีรัมย์ ปัจจุบัน
แคว้นมหิทรปุระหรือบริเวณเมืองบุรีรัมย์ซึ่งอยู่บนเส้นทางคมนาคมไปยังเมืองพระนครนั้น มีการสร้างปราสาทเขาพนมรุ้งเป็นศูนย์กลางศาสนสถานของแคว้น ทั้งยังมีปราสาทเมืองต่ำ ศิลปะแบบบาปวนและคลัง ที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 เป็นศาสนสถานของพราหมณ์ - ฮินดูที่นับถือพระศิวะเช่นกัน  นอกจากนี้ในระหว่างเส้นทางก็มีการสร้างเทวสถานเล็กๆ ก่อนปรับเปลี่ยนเป็นปราสาทขนาดใหญ่ดังเช่นปราสาทเขาพนมรุ้งซึ่งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นปราสาทขนาดใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา
ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการสร้างศาสนสถานเพิ่มขึ้นอีก มีทั้งปราสาท อโรคยาศาลหรือโรงพยาบาล และธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง เช่น ปราสาทหนองหงส์ อ. โนนดินแดง  ปรางค์กู่สวนแตง อ. บ้านใหม่ไชยพจน์  กุฏิฤๅษีหนองบัวราย อ. ประโคนชัย

“ถิ่นภูเขาไฟ”

บริเวณที่ตั้งเมืองบุรีรัมย์เคยเป็นดินแดนภูเขาไฟมาก่อน มียอดภูเขาไฟที่ดับแล้วหลายแห่งซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทขอมโบราณ เช่น ภูเขาไฟพนมรุ้ง เป็นที่ตั้งของปราสาทเขาพนมรุ้ง  ภูเขาไฟกระโดง เป็นที่ตั้งของปราสาทเขากระโดง
ภูเขาไฟในบริเวณ จ. บุรีรัมย์ กำเนิดขึ้นในลักษณะเดียวกับภูเขาไฟทั่วไป คือหินละลายใต้เปลือกโลกไหลแทรกขึ้นมาแข็งตัวบนพื้นผิวดินและทับถมเป็นเนินสูงขึ้น  ภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่เรียกว่าภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ หากสิ้นพลังแล้วก็เรียกว่าภูเขาไฟที่ดับแล้ว  ในประเทศไทยพบหลายแห่ง ส่วนที่พบที่บุรีรัมย์นั้นสันนิษฐานว่ามีอายุราว 8 แสนปีมาแล้ว ที่สำคัญได้แก่
ภูเขาไฟภูพระอังคาร อยู่ในเขต อ. นางรอง และ อ. ละหานทราย  เป็นภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบุรีรัมย์ สูงราว 331 ม. ครอบคลุมพื้นที่ 90 ตร.กม. ปากปล่องภูเขาไฟใหญ่มาก เส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 1 กม. ภายในปล่องมีกรวยภูเขาไฟขนาดเล็กตั้งอยู่อีกลูกหนึ่ง
ภูเขาไฟพนมรุ้ง อยู่ในเขตเชื่อมต่อระหว่าง อ. ประโคนชัย อ. ละหานทราย และ อ. นางรอง  เป็นเนินสูง 383 ม. ครอบคลุมพื้นที่ราว 16 ตร.กม. พบปล่องภูเขาไฟกว้าง 200 ม. ที่ปัจจุบันกลายเป็นแอ่งน้ำ  ด้านทิศใต้ของปากปล่องเป็นที่ตั้งของปราสาทเขาพนมรุ้ง
ภูเขาไฟกระโดง ตั้งอยู่ที่ ต. เสม็ด อ. เมืองบุรีรัมย์  เป็นเนินสูง 265 ม. บนยอดเนินเป็นที่ตั้งของปราสาทเขากระโดง  แนวภูเขาไฟแผ่เป็นพื้นที่กว้างราว 1.5 ตร.กม. พบหินลาวาชนิดที่เรียกว่าหินบะซอลต์บริเวณเนินเขา ยังปรากฏซากปล่องภูเขาไฟให้เห็นอย่างชัดเจน

“ผ้าไหมสวย”

อ. นาโพธิ์ เป็นแหล่งทอผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดของบุรีรัมย์  ผ้าไหมนาโพธิ์มีชื่อเสียงทั้งด้านคุณภาพและความสวยงาม
   
ผ้าไหม อ. นาโพธิ์ มีลวดลายละเอียดสวยงาม เนื้อแน่น เพราะใช้ไหมเส้นเล็กที่ได้จากไหมเลี้ยง ไม่ใช่ไหมสังเคราะห์ ย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ สีจึงไม่ฉูดฉาด ทอด้วยกี่พุ่งซึ่งต้องใช้ความละเอียดประณีตในการทอและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น
ผ้าไหมนาโพธิ์มีลวดลายพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ลายฟันเลื่อย ลายธาตุ ลายฉัตร และลายนาค  นอกจากนี้ยังมีผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดง ผ้าไหมที่มีเชิงหรือตีนผ้าเป็นสีแดง
ปัจจุบันที่ อ. นาโพธิ์ มีศูนย์หัตถกรรมทอผ้าไหมนาโพธิ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  มีโรงทอผ้าไหมอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์

“รวยวัฒนธรรม”

คนบุรีรัมย์นอกจากจะยึดถือวัฒนธรรมประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เช่นเดียวกับคนอีสานแล้ว ยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของบุรีรัมย์
ในรอบปีหนึ่งชาวบุรีรัมย์จะจัดงานวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ที่ยืดถือปฏิบัติกันมา ดังเช่นในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. มีงานดอกฝ้ายคำบาน  ภายในงานมีการแสดงพื้นบ้านอย่างกันตรึม ซึ่งเป็นการร้องและใช้เครื่องดนตรีท้องถิ่นที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของชาวอีสานกับเขมร และมีการนั่งช้างชมดอกฝ้ายคำด้วย

ต่อมาราวเดือน ก.พ. - มี.ค. มีเทศกาลนมัสการพระเจ้าใหญ่วัดศีรษะแรด (วัดหงษ์)  พระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบุรีรัมย์เคารพนับถือมาก  นอกจากนี้ยังมีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดพระพุทธบาท บนยอดเขากระโดง  ช่วงนี้ชาวบุรีรัมย์จะหอบลูกจูงหลานไปปิดทององค์พระที่วัดศีรษะแรด พร้อมทั้งขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา

ช่วงเดือน เม.ย. มีงานเครื่องเคลือบพันปี ซึ่งจัดแสดงเครื่องเคลือบสีดำและสีน้ำตาลอันเป็นเอกลักษณ์ที่สืบไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเปิดให้เข้าชมแหล่งโบราณคดีและเตาเผาเครื่องเคลือบใน อ. บ้านกรวด  อีกงานหนึ่งคือประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จัดทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (ราวเดือน เม.ย.)  ชาวบ้านจะขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองที่พระปรางค์น้อย และร่วมชมปรากฏการณ์ที่พระอาทิตย์ส่องแสงผ่านช่องประตูปราสาทเขาพนมรุ้งทั้ง 15 ช่องพร้อมกัน

เดือน พ.ย. มีประเพณีแข่งเรือยาว ที่ชาวบุรีรัมย์จัดขึ้นเพื่อเป็นการสักการะเจ้าพ่อวังกรูดซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาแม่น้ำมูน  และในวันเสาร์ - อาทิตย์แรกของเดือน ธ.ค. มีมหกรรมว่าวอีสาน เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นที่ อ. ห้วยราช  ภายในงานมีการแสดงว่าวโบราณ ดังเช่นว่าวแอกซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบุรีรัมย์
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

เกี่ยวกับฉัน

Websiteที่รวบรวมการท่องเที่ยวดี ๆ ที่มีในประเทศไทยและต่างประเทศ