วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ย่างใกล้เข้าหงสา

แบ่งปัน

"พี่เอส หนิงจะไปพม่า" ตัวอักษรโผล่แม๊ะขึ้นมาบนหน้าจอ MSN
"ไปกับใครหละ" ฉันถามกลับไป
"ไปคนเดียว"
อ้าวอะไรของเอ็ง ฉันสงสัยระคนเป็นห่วงน้องสาวที่เคยร่วมเดินทางกันมาหลาย Trip ทั้ง Trip สุดโหดโครตเหี้ยมที่อินเดียยังจำฝังใจไม่มีจาง
"ไปทำห่าอะไรคนเดียว" ฉันถามแกมด่าประชด
"แหม๋ ไปเที่ยวสิเจ๊ หนิงจองตั๋วเครื่องบินได้ถูก แอร์เอเซีย 399 บาทเอง เจ๊ไปมั้ย"
แม้นว่า "หนิง" เพื่อนรุ่นน้องร่าง (เกิน) อวบ ของฉันจะเดินทางมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหมู่คณะ หรือเดินเดียว ฉันก็อดที่จะเป็นห่วงเธอไม่ได้อยู่ดีในประเทศที่เราไม่คุ้นเคย แถมเป็นสังคมนิยมอีกต่างหาก แม้นจะเคยมีคนไปเที่ยวพม่ามาบ้างแล้วในช่วงที่ตั๋วเครื่องบิน ๆ ไปย่างกุ้งถูกเสียยิ่งกว่านั่งรถทัวร์ แต่ผู้หญิงตัว (ไม่) เล็กคนเดียว จะไปเที่ยวอย่างนั้นได้อย่างไร
"จองตั๋วให้ด้วย เดี๋ยวโอนเงินไปให้"
เร็วกว่าความคิดด้านบนจะคิดจบ ฉันคีย์ตอบมันไปแล้ว ไม่นานเกินรอ สาวน้อยของฉันก็ตอบข้อความมาตามสายแลน
"เรียบร้อยเจ๊" เธอนิ่งไปซักพัก แล้วก็ตอบกลับมาอีกว่า "แต่ขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์นะ"
"อ้าวอีบ้าหนิง ทำไมไม่บอกแต่แรกเฮ้ย แล้วจะไปขึ้นยังไงที่กัวลาลัมเปอร์"
ฉันโวยวายขึ้นมาทันที ถ้ามันมานั่งอยู่ข้างหน้ามีโอกาสหูดับ
"แหม๋เจ๊ จะยากอะไร เจ๊ก็ขึ้นรถไฟชั้น 3 ไปกับหนิง ไปเที่ยวบ้านหนิงก่อน แล้วค่อยนั่งรถไปลงกัวลาลัมเปอร์กัน"
มันพูดเหมือนกัวลาลัมเปอร์อยู่สนามหลวง แวะกินข้าวบ้านมันที่นราธิวาสก่อนแล้วค่อยไปต่อป๊าดดดด
"เมิงหาตั๋วจาก BKK ไปกัวลาให้กรูเลยไอ้หนิง เอาถูก ๆ ด้วย" ประกาศิตเล่มได้ออกตัว
"งั้นรอมันโปรก่อนเจ๊ ตอนนี้ยังไม่มี เดี๋ยวมีแล้วจะจองให้"


บริเวณที่รับกระเป๋าที่โหลดลงมาใต้เครื่อง
น้องหนิงหายไปเนิ่นและนาน กว่าที่จะกลับมาสู้วัฏรจักร MSN ของฉันอีกครั้ง พร้อมกับข่าวใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเดินทาง
"เจ๊ตกลงเพื่อนหนิงไปด้วยนะ 2 คน อ้อ แล้วตอนนี้มีตั๋วจากกรุงเทพฯ ไปย่างกุ้งเลย 599 บาท กับ ตั๋วไปลงกัวลาแล้วต่อไปกรุงเทพฯกำลังโปร เจ๊เอาไรอ้า" โอ๊ววว ไอ้หนิง
ฉันนั่งดูตัวเลขที่น้องส่งมาให้คำนวนไปคำนวนมาเป็นอันว่าฉันตกลงที่จะจองตั๋วขาไปจากกรุงเทพฯ ไปย่างกุ้ง เพราะราคาถูกกว่ามาก แต่ตั๋วบินตรงขากลับ ๆ ราคาแพงมิใช่น้อย เมื่อเปรียบเทียบโน้นนี่นั่นแล้ว ฉันก็ยังเห็นว่าการตีตั๋วจากย่างกุ้งมาลงกัวลาฯ แล้วต่อมากรุงเทพฯ น่าจะถูกกว่า (เพราะนังหนิงมันดันจองโรงแรมที่กัวลาฯ ไว้แล้วด้วย เห้อออ)
"อ้อ เจ๊ลืมบอกไป เพื่อนหนิงเอาญาตไปด้วยอีก 3 คน อายุ 50 กว่า ๆ เอง"
ง่ะ ไอ้หนิง ฉันคิดในใจ แล้วจะไหวเหรอวะ ขนาดเจ๊ว่าอึด ๆ ยังแทบแย่ไปกะเอ็ง
"เจ๊ไม่ต้องห่วงนะ เขาทำสวนยาง ไปกับหนิงแค่นี้จิ๊บ ๆ"
น๊านนนมันรู้ทันความคิดเราราวกับอ่านความคิดออก ทำไปทำมาการเดินทางของเราครั้งนี้ แทนที่จะเป็นการเดินทางเพียงลำพังยังพม่า กลับกลายเป็น "ทัวร์ชรา พม่าฮ๊าไฮ้" ไปเสียแล้ว เอาวะ เอาไงเอากัน มากันขนาดนี้แล้วนี่นะ
น้องหนิงกับเพื่อนของเธอรับอาสาไปยื่นเรืองทำวีซ่าให้กับพวกเราที่สถานฑูตพม่า แต่ไม่ทันไรเธอก็โทรมาหาและตามมาด้วยเสียงตื่นเต้นบอกว่า
"เจ๊ รูปหน้าตรงเจ๊อ่ะใช้ไม่ได้นะ มีอย่างที่ไหน ตัวเอียง แต่หน้าตรงเอามาให้ยื่น แล้วคนละนามสกุลอ่ะเขาให้ยื่นเองด้วย เจ๊มาเลยนะหนิงรออยู่ที่นี่ บลา บลา บลา"
ฉันได้แต่หัวเสียว่ารูปที่งามที่สุดเท่าที่จะหาได้หลังจากที่ฉีกทิ้งไปหลายโหลเกิดอาการใช้ไม่ได้ขึ้นมาในวันนี้
ไม่ต้องคิดอะไรมาก ฉันคว้ากล้องคอมแพคของน้องใกล้ ๆ แล้วไปยืนติดกำแพงถ่ายรูปหน้าตรง ตัวตรงออกมาหนึ่งใบ และนำไปอัดแบบ 4P จากนั้นก็นั่งรถไฟฟ้าไปสถานนีช่องนนทรีที่น้องหนิงรออยู่
เราจัดเอกสารใหม่ และยื่นเรื่องเพื่อขอวีซ่า จ่ายชำระค่าทะเบียน และอีก 3 วันก็มารับเล่มได้ แน่นอนที่สุดน้องหนิงก็ยังคงอาสามาเอาเล่มให้และนัดฉันก่อนวันออกเดินทางไปกัวลาฯ หนึ่งวันเพื่อเอาเล่มมาให้
แบบฟอร์มของวีซ่าเข้าประเทศพม่า
วันออกเดินทางแม้นว่าจะเคยเห็นหน้ากันมาแล้วที่สถานฑูต แต่ฉันก็ยังรู้สึกไม่คุ้นเคยอยู่ดีเมื่อเช็คอินตั๋วแล้ว เราจึงแยกกันเดินดูข้าวของในสุวรรณภูมิ ฉันได้หนังสือนำเที่ยวพม่าเล็ก มา 1 เล่ม เพราะทั้งสนามบินมีเล่มนั้นเพียงเล่มเดียว
บรรยากาศบนเจ้าหางแดงคงไม่ต้องบรรยาย เมื่อเราขึ้นเครื่องไปถึงย่างกุ้งแล้วเราก็ต้องผ่านพิธีการเข้าเมืองตามระเบียบ
น้องหนิงมานั่งรออยู่ที่ ๆ นั่งรอแขกของทางสนามบิน เพราะเครือ่งจากกัวลาฯ จะบินมาถึงก่อนเครื่องจาก กทม. ประมาณ 30 นาที หนิงแนะนำให้เรารู้จักกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทรถเช่า ซึ่งสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และมานั่งรออยู่เป็นเพื่อนกันได้สักพักแล้ว
เมื่อทุกคนผ่านพิธีการเรียบร้อย "มินมา" เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ รถเช่าจึงพาเราไปขึ้นรถ รถตู้ขนาดเล็กที่สามารถนั่งกันได้อย่างพอดี 7 ชีวิต ขับเคลื่อนไปบนทางหลวงเพื่อส่งเราที่โรงแรมที่ได้จองไว้ "ซานิ" คนขับรถที่ชื่อเหมือน AF6 เป็นพลขับที่สามารถฟังภาษาไทยและพูดภาษาไทยได้ดีในระดับหนึ่ง (ว๊าอดนินทาเลย) จะเป็นคนขับให้กับเราตลอดทริปการเดินทางในครั้งนี้
เอกสารที่ต้องกรอกก่อนเข้าประเทศพม่า
ขอบคุณภาพจาก yutphuket.wordpress.com
เมื่อไปถึงโรงแรมและเช็คอินเรียบร้อย "มินมา" ก็ขอเก็บเงินมัดจำครึ่งหนึ่งก่อนการเดินทาง และพาพวกเราไปแลกเงินจั๊ดในเรทที่สูงทีเดียวจากพี่สาวเขาที่บ้าน ได้ถึง 98,000 จั๊ด ต่อ 100 US$ เลยทีเดียว แต่ก่อนที่จะพาเราไปบ้านพี่สาวนั้น เขาพาเราตะเวนเสียหลายเจ้า แต่เนื่องจากในเวลานั้นค่อนข้างค่ำมากแล้ว ร้านแลกเงินจึงไม่มีเงินเตรียมไว้ให้เราแลกมากนัก
จากนั้นเขาก็หายไปจากชีวิตเราชั่วนิรันดร์ เหลือเพียง "ซานิ" ที่พาพวกเราไปกินข้าวในย่านไชน่าทาวน์ของพม่า และขอตัวเรากลับไปพักผ่อนก่อนเนืองจากในวันรุ่งขึ้นเราต้องเดินทางไปยังเมือง "พะโค" หรือ "หงสาวดี" แต่ก็ยังแนะนำเราว่าเราสามารถนั่งรถแท็กซี่กลับไปยังโรงแรมได้ในราคาที่ไม่เกิน 1,000 จั๊ด
เราเดินดูอาหารหลากหลายที่วางขายอยู่ที่ไชน่าทาวน์ของย่างกุ้ง ไชน่าทาวน์ของที่นี่ไม่เหมือนกับที่บ้านเรา เพราะส่วนใหญ่จะมีเพียงอาหารสำเร็จรูป ขนม และผลไม้วางขายเท่านั้น ที่มากที่สุดเห็นจะเป็นอาหารนี่หละ เราแวะเข้าร้านข้าวต้มร้านหนึ่ง เพื่อสั่งอาหารมาลองรับประทานกัน อาหารพื้น ๆ ที่เราสั่งพยายามให้เหมือนกับอาหารที่เมืองไทยที่สุด
และก็ไม่ผิดหวังเมื่ออาหารมาเสิร์ฟไม่รู้ว่าอร่อย หรือหิวเราจัดการอาหารตรงหน้ากันอย่างรวดเร็ว มื้อนั่นรู้แต่ว่า "อร่อยมาก" และราคาไม่แพงอย่างที่คิด เพราะพอ ๆ กับร้านข้าวต้มบ้านเราเลยทีเดียว หลังจากนั้นพวกเราจึงเรียกแท็กซี่ ซึ่งกว่าจะพูดกันรู้เรืองว่าจะไปที่ไหนก็เล่นเอานามบัตรโรงแรมถึงกับงอหงิกกันเลยทีเดียว กว่าที่เราจะได้กลับไปพักผ่อนเล่นกันเสียดึกดื่น
6 โมงเช้าที่ซานินัดเราไว้เพื่อจะเริ่มเดินทางออกจากย่างกุ้ง เมื่อกินอาหารเช้ากันจนเรียบร้อยแล้ว พวกเราทั้ง 7 ชีวิตไม่รวมคนขับ จึงได้ร่วมออกเดินทางจากย่างกุ้งสู่หงสาวดี
ชีวิตไอ้ตูบบนท้ายรถมอเตอร์ไซด์ เห้อออ เสี่ยงวุ้ย
ระหว่างสองข้างทางที่เราได้เห็นแทบไม่แตกต่างจากต่างจังหวัดของเราเมื่อซัก 20-30 ปีสักเท่าไหร่ บรรดาชาวพม่าออกมารอใส่บาตรพระสงฆ์อยู่ตามรายทาง เด็ก ๆ เตรียมตัวไปโรงเรียน
เด็กน้อยมารอรถไปโรงเรียนกับผู้ปกครอง
ฉันบอกให้ซานิจอดรถลงข้างทางพร้อมทั้งวิ่งไปดักหน้าพระสงฆ์ขบวนหนึ่งที่จัดแถวเดินบิณฑบาตรเป็นทิว 4 รูป ขนมปังและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องอัฐบริขารในการถวายพระในชาวนี้ หลวงพ่อพยายามคุยกับฉันเป็นภาษาพม่า ฉันตอบท่านเพียงคำเดียวว่า "I 'm Yodia" (โยเดีย คือ คำที่พม่าใช้เรียกคนไทย ในขณะที่เรียกตนเองว่า มยะหม่า) ท่านก็ยิ้มและพูดอะไรอีกนิดหน่อย แล้วเดินจากไป
สาวน้อยคนนี้มีอาหารไปกินกลางวันเสียด้วย
ซานิยิ้มให้ฉันซึ่งตอนนี้กระโดดขึ้นมานั่งด้านข้างคนขับ แต่เป็นด้านซ้ายของรถ เพราะรถในพม่านั้นพวงมาลัยอยู่คนละด้านกับของไทย เขาขับรถไปเรื่อย บนถนนที่ค่อนข้างเป็นหลุมเป็นบ่อ และมีฝุ่นกระจายอยู่ทั่ว ซานิเป็นคนอารมณ์ดี และพยายามเปิดเพลงฝรั่งให้เราฟัง พร้อมทั้งร้องเพลงคลอไปเบา ๆ
ชาวพม่ายังคงลงแขกทำนากันด้วยดี
ตลอดเวลาซานิจะพยายามชี้ชวนให้เราดูโน้น นี่ นั่นทั้งสองข้างทาง และแทบไม่ต้องบอก ซานิ จะถามและจอดรถในเกือบทุกที่ ๆ คิดว่าห้องน้ำสะอาด และเราต้องการ
น้องหนิงพูดถึงสถานที่แรกที่เราต้องการแวะระหว่างทางที่จะเดินทางจากย่างกุ้งไปหงสาฯ นั่นคือ สุสานทหารนานาชาติของพม่า คุยกันอยู่นาน ทั้ง ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษเก่งด้วยกันทั้งคู่ แต่ด้วยภาษาเรียกที่ไม่เหมือนกัน กว่าเราจะถึง "สุสานทหารนานาชาติพม่า" ก็จวนเจียนจะถึงเต็มที่
ป้ายหน้าสุสานทหารนานาชาติของพม่า
บรรยากาศคล้าย ๆ กับที่เมืองกาญจน์ แต่เงียบและสงบกว่า
"สุสานทหารนานาชาติพม่า" มีลักษณะแทบไม่แตกต่างไปจาก "สุสานทหารนานาชาติที่เมืองกาญจนบุรี" ทั้งรูปแบบสถานที่ และหลุมฝังศพ เท่า ๆ ที่เราเห็นศพทหารที่ถูกปล่อยให้นอนอยู่อย่างสงบที่นี่ส่วนใหญ่เป็นทหารอินเดีย ซึ่งเป็นชาติอาณานิคมของอังกฤษเสียเป็นส่วนมาก
สงสัยจะเป็นแบบฟอร์มเดียวกันหมดทั่วโลกสำหรับสุสานทหารนานาชาติ
เราเดินชม "สุสานทหารนานาชาติพม่า" ทั่วบริเวณด้วยความเคารพในสถานที่อันเป็นที่หลับไหลนิรันดร์ของเหล่าบรรดาทหารกล้าที่มาเสียชีวิตนอกมาตุภูมิของตน คิดย้อนกลับไปถ้าเป็นไปได้ เขาคงอยากกลับไปนอนสงบที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนมากกว่าที่ต่างบ้านต่างเมืองเช่นนี้
ปีกสุสานฯ ด้านขวา (หันหน้าเข้าสุสานฯ)
ต้นไม้ที่ได้รับการดูแลและตกแต่งอย่างดี
กางเขนขนาดใหญ่ที่สุสานฯ
เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้วพวกเราจึงได้ออกเดินทางต่อ เพราะที่หมายของเรานั้นยังห่างไกลอยู่อีกมาก  ตลอดสองข้างทางระหว่างเดินทาง มีความทรงจำและภาพชีวิตความเป็นอยู่อันสวยงามอยู่อีกมากมาย
หลุมฝังศพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารอินเดีย ภายใต้การคุมทัพของอังกฤษ
ป้ายชื่อทหารที่นอนสงบอยู่ ณ ที่นี่
ซานิจอดรถเพื่อพักเข้าห้องน้ำบริเวณริมแม่น้ำแห่งหนึ่งริมทาง เขาชี้ชวนให้พวกเราดูความกว้างใหญ่ของแม่น้ำ และเมื่อเราให้ความสนใจกับ "หมาก" ที่ขายอยู่ในบริเวณนั้น เขาถามเราว่าต้องการชิมมั้ย และซื้อเพื่อที่จะให้เราถ่ายรูปการทำหมาก 2 คำ ถึงจะเป็นเงินไม่กี่จั๊ด แต่เราก็รู้สึกดีกับเขาขึ้นอีกมากทีเดียว
ริมแม่น้ำที่ "ซานิ" จอดให้เข้าห้องน้ำและพักรถ
น้ำแยะ และไหลเชี่ยว
หมากของซานิ ที่ซื้อเพื่อให้เราดูวิธีการม้วนหมาก
(รู้สึกว่า 2 คำ 10 จั๊ด)
และเมื่อรถของซานิผ่านแม่น้ำสายหนึ่ง ซานิเล่าให้ฟังว่า แม่น้ำสายนี้ ชื่อ ยังโก้ ริเวอร์ หรือ แม่น้ำที่กษัตริย์ไทย เคยบุกเข้ามาถึง และใช้ปืนยิงข้ามแม่น้ำแห่งนี้ ใกล้ ๆ กับสะพานที่เรากำลังจะข้าม และเมื่อฉันยกกล้องขึ้นมาและกดชัตเตอร์ไปเพียงครั้งเดียว ซานิก็ส่งเสียงดังห้ามถ่ายภาพ เพราะแถบนี้เป็นแถบที่ทำการทหาร อาจทำให้เรามีปัญหาได้ (แต่ฉันไม่เห็นทาหารเลยแม้นแต่คนเดียว)
สะพานข้ามแม่น้ำสโตง
และถ้าหากเป็นอย่างที่ซานิพูดให้ฟังจริง ฉันกำลังจะขึ้นสะพานข้าม "แม่น้ำสโตง" ซึ่งครั้งหนึ่ง พระนเรศวรเคยบุกเข้ามาถึงหงสาวดี และยิงพระแสงปืนข้ามฝั่งแม่น้ำ จนพระแสงปืนนั้น ได้ชื่อว่า "พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสโตง" ก่อนที่จะเสด็จกลับไป
เส้นทางระหว่างย่างกุ้ง ไปหงสาฯ หรือ พะโค อดีตราชธานีของมอญ
อะไรเอ่ย !!!
มันคือ "รถไฟ" พม่า นั้นเอง ได้อารมณ์ดีแท้ วิ่งคนเดียวกลางทุ่งเลยทีเดียว
ในที่สุดรถของเราก็วิ่งมาจนถึง เมืองไจก์โถ่  ซึ่งเป็นพื้นที่ราบก่อนที่จะต้องเปลียนรถเพื่อเดินทางขึ้นสู่ "พระธาตุอินทร์แขวน" หรือ "ไจ้ก์ทิโย" ซึ่งหมายถึง หินรูปหัวฤๅษี กันที่เชิงเขา ไจ้เทียว กันเสียที และด้วยตลอดระยะทางกว่า 170 กิโลจากย่างกุ้งมาจนถึงที่นี่ (เชิงเขาไจ้เที่ยว แต่ถ้าจากย่างกุ้งไปจนถึงยอดไจ้ก์ทิโยก็ประมาณ 180 กม.) เรายังไม่ได้แวะกินข้าวกันมาเลยจนถึงเวลานี้
อาหารกลางวัน จานเหลือง ๆ นั่นรสชาดเหมือน "มัสมั่น" มีทั้งปลา ทั้งไก่ ผักสด ๆ มาก
จานซ้ายเหมือนแกงหน่อไม้
ซานิพาเราแวะกินข้าวกลางวันก่อนที่จะขึ้นไปบนไจ้เทียวซึ่งจะเป็นที่ ๆ เราจะใช้เปลียนรถเพื่อขึ้นไปบน ไจ้ก์ทิโย อาหารพม่าแท้ ๆ ที่ซานิพาเราไปแวะกิน แต่ส่วนใหญ่ของพวกเรานั้น ก็ไม่ได้เกี่ยงงอนอะไร มีแต่ฉันที่พอดูแล้ว ขอหมี่ผัดซักจานดีกว่า หลาย ๆ คนให้ความเห็นว่าอาหารพม่ามีรสชาดเหมือนอาหารไทย ดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหาในเรืองการกินนี่เลย
อันนี้ ผัดหมี่ของฉัน แฉะโครต !!!
และเมื่ออิ่มหนำดีแล้ว ก็ถึงเวลาระทึกของพวกเราที่จะต้องเปลี่ยนรถจากรถตู้คันเล็กของเรามาเป็นรถหกล้อขนหมูของบ้านเรา เพื่อขึ้นไปยังไจ้ก์ทิโยอีกประมาณ 8 กิโลเมตรจากนั้นพวกเราต้องลงเดินเท้าหรือขึ้นเสลี่ยงไปอีก ประมาณ 2 กิโลเมตร
พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย
เราถามซานิว่าทำไมถึงเอารถขึ้นไปไม่ได้ ซานิตอบเราว่ามันเป็นกฏหมายที่ห้ามไม่ให้มีการนำรถจากที่อื่นขึ้นไป เพราะหากใคร ๆ ก็เอารถขึ้นไปเองได้ ชาวบ้านก็จะไม่มีรายได้จากการขับรถขึ้นเขาไปส่ง และยังมีพวกลูกหาบอีกที่จะต้องตกงาน
อีกมุมหนึ่งบริเวณหน้าวัดที่เนินเขาไจ้เทียว 
เราโยนกระเป๋าและสัมภาระเอาไว้บนรถหกล้อโดยเลือกที่จะนั่งด้านหน้า 4 คน และด้านหลังอีก 3 คน และมานั่งรถเวลาให้รถเต็ม เพราะหากมีผู้โดยสารไม่เต็ม รถจะไม่ยอมออกเดินทางขึ้นไปบนพระธาตุแน่นอน แต่หากใครต้องการเหมารถทั้งคันเพื่อขึ้นไปก็สามารถทำได้ โดยจะต้องเสียค่าเหมาประมาณ 136,000 จั๊ด พวกเราจึงได้แต่รอเวลาที่ผู้โดยสารเต็มคันรถต่อไป ด้วยใจระทึก....
 รถคันนี้หละ ที่จะพาเราขึ้นไปบนพระธาตุอินทร์แขวน เห้อ เห้อ เห้อ
ข้อมูลควรทราบในการเดินทาง ::
ประเทศพม่างดให้บริการวีซ่า ณ ปลายทาง (Visa On Arrival คือ การขอวีซ่า ณ ประเทศปลายทางที่เราเดินทางไปถึง โดยไม่ได้ทำวีซ่าจากสถานทูตในประเทศไป) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553
ดังนั้นต้องไปขอวีซ่าจากสถานฑูตพม่าให้เรียบร้อยก่อนการเดินทางเข้าประเทศพม่า
สถานทูตพม่าประจำประเทศไทยเลขที่ 132 ถ.สาธรเหนือ ซ.71 กรุงเทพฯ 10500
โทร: (66-2) 233 7250, 234 4789, 236 6898
เวลาเปิดทำการ: จันทร์ - ศุกร์ (09.00 น. - 17.00 น.)
ค่าธรรมเนียมประมาณ 20 US$
ควรระบุโรงแรมที่พักให้เรียบร้อย และชัดเจน หากยังไม่รู้ให้หาชื่อและที่อยู่ของโรงแรมอะไรก็ได้ซักโรงแรมระบุไปก่อน
อัตราแลกเปลียนที่แลกได้ดีที่สุด คือ 980 จั๊ด ต่อ 1 US$
ธนบัตรดอลล่าห์สหรัฐที่จะแลกเข้าไปใช้จ่ายในพม่านั้น ต้องเป็นพันธบัตรที่มีสภาพ "ใหม่" ไม่มีรอยตำหนิใด ๆ ไม่มีการเขียน ขีดฆ่าใด ๆ และห้ามพับเด็ดขาด เพราะหากผิดจากนั้น จะทำให้แลกเงินจั๊ดได้น้อยลงมาก ในขณะที่ธนบัตรพม่า หรือเงินจั๊ดส่วนใหญ่นั้น อยู่ในสภาพ "เน่า" ถึง "โครตเน่า"
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

เกี่ยวกับฉัน

Websiteที่รวบรวมการท่องเที่ยวดี ๆ ที่มีในประเทศไทยและต่างประเทศ